Hot Topic!
Open data เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
โดย ACT โพสเมื่อ Feb 20,2018
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
คอลัมน์ เล่ารอบตัว โดย : ไกลก้อง ไวทยการ
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง TheUnited Nations Office on Drugs and Crime-UNODC ได้จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจขึ้นในหัวข้อ The Role of Open Data for Anti-Corruption in Thailand หรือบทบาทของ Open Data ในการต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่ง วิทยากรซึ่งประกอบด้วย ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านการคอร์รับชัน (ประเทศไทย) และผู้เชี่ยวชาญด้าน Open Data มีมาจากต่างประเทศ ทั้งจาก UNODC และ UNDP
เนื้อหาจากการนำเสนอของวิทยากร โดยเฉพาะจากที่ปรึกษา ป.ป.ช. น่าสนใจมากว่า ป.ป.ช. พยายาม ผลักดันนโยบายเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลของ การจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยอยากให้มีการส่งข้อมูลจากฐานข้อมูล การจัดซื้อ จัดจ้าง ของกรมบัญชีกลาง ไปยังเว็บไซต์ ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ data.go.th โดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกัน ป.ป.ช. เองก็ยังต้องการ Open Data จากหน่วยงานอื่นๆ มาสนับสนุน การตรวจสอบการทุจริต อาทิ ข้อมูลจากพื้นที่จริง ซึ่งประชาชนช่วยกันรายงานเข้ามาฝ่าย platform ที่พัฒนาขึ้นเพื่อการรายงาน ข้อมูลสัญญาการก่อสร้างต่างๆ ทั้งคู่สัญญา หรือซับพลายเออร์ ของคู่สัญญา ซึ่งยังไม่มีเป็น Open Data
อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. ก็ยังมีอุปสรรคเรื่องการร้องขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ มีการยกตัวอย่างว่า บางธนาคารแจ้งว่าข้อมูลบัญชีธนาคารที่ ป.ป.ช.ร้องขอสูญหาย ไม่สามารถ ให้ข้อมูลได้ เป็นต้น
ด้านประธานองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้การสำรวจ Open Data Index ของประเทศไทยจะอยู่ในอันดับกลางๆ แต่ Open Data ที่มีอยู่ยังไม่สอดรับกับการทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นเท่าที่ควร
ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านการ คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เข้าร่วมระบบสัญญาคุณธรรมเพื่อร่วมพิจารณากระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ และพยายามทำให้โครงการต่างๆ นั้นมีความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ รวมทั้งยังมีโครงการหมาเฝ้าบ้าน เพื่อเป็นช่องทางการรายงานกรณีสงสัยว่าจะมีการกระทำ การทุจริต ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
จากที่วิทยากรชาวไทยที่ทำงานทั้งในหน่วยงานอิสระภาครัฐ และ องค์กรภาคประชาสังคม ต่างก็เห็นทั้งประโยชน์และความท้าทายของ Open Dataแต่ที่ผู้เขียนได้สังเกตสถานการณ์ความเป็นจริงที่ผ่านมา เห็นว่า แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีความพยายามสร้างความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะในรูปแบบออนไลน์ แต่ก็พบว่า ยังขาดความต่อเนื่อง อาทิ ข้อมูลการจัดซื้อ จัดจ้าง ของหน่วยงานภาครัฐไม่มีข้อมูลของปีงบประมาณ 2561 ขึ้นบนเว็บไซต์ data.go.th อีกด้านหนึ่งการเปิดเผยข้อมูลของ ป.ป.ช. เองก็ไม่ได้เปิดเผยในรูปแบบที่เป็น Open Data คือ สามารถนำไปประมวลผล หรือใช้งานต่อได้
ยกตัวอย่างเช่น การที่ไม่ยอมให้ถ่ายสำเนา บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง ซึ่งอันที่จริงการถ่าย สำเนาไม่ใช่ Open Data แต่การไม่ยอมให้ถ่ายสำเนา ถือว่าเป็นการสร้างอุปสรรคในการเปิดเผยต่อสาธารณะที่จะทำให้เข้าถึงการตรวจสอบ นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง และภาพลักษณ์การทำงานของ ป.ป.ช. ในการเปิดเผยข้อมูลในกรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน โดยเฉพาะกรณีนาฬิกาหรู ก็สะท้อนกรณีที่ยกตัวอย่างมาเช่นกัน การรายงานเบาะแสการทุจริตใน รูปแบบ crowdsourcing นั้นปัจจุบันยังไม่มีช่องทางที่สาธารณะสามารถเข้าถึงโดยง่าย อย่างไรก็ตาม ประชาชนกลับใช้ช่องทาง social network ในการแจ้งเบาะแส และหาข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อมูลที่เปิดในรูปแบบ Open Data มากพอ ก็ยิ่งจะรวบรวมความร่วมมือจากสาธารณะในการช่วยสืบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ คลังรูปภาพข่าวออนไลน์ สามารถทำให้เห็นเครื่องประดับ หรือ พาหนะหรู ของนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงได้ หรือ หากมีข้อมูลการถือครองที่ดินเปิดเป็น Open Data เราก็จะรู้ว่า ใครบ้างที่ถือครองที่ดินมากผิดปกติ หรือ มีการถือสิทธิในที่ดินที่ผิดปกติ
ส่วนเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้าง ผู้เชี่ยวชาญจากจาก UNDP ได้กล่าวถึง กระบวนการ Open Contracting (https://www.open-contracting.org/) นั้นคือการทำให้การจัดซื้อ จัดจ้าง ทั้งกระบวนการเป็นดิจิทัล และ Open Data โดยเริ่มจากการทำข้อตกลงในกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างมาตรฐานของข้อมูลร่วมกัน และ ออกแบบระบบบข้อมูลจัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งตรวจสอบกันและกันและจากสาธารณะได้พัฒนา Application Program Interface-API เพื่อให้ข้อมูลสามารถเชื่อมต่อกับ แอพพลิเคชั่น อื่นๆ ที่พัฒนาต่อยอด อาทิ การสร้างแอพพลิเคชั่น รวบรวมข้อมูลประกาศการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือ แอพพลิเคชั่น ควบคุมโครงการก่อสร้าง เป็นต้น รวมทั้งมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสถานการณ์
จะเห็นว่าเรื่อง Open Data เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้น จะมีความสำเร็จ ได้ต้องประกอบด้วยทั้งการสร้างนโยบาย และความร่วมมือของสังคม ที่สำคัญคือทัศนคติ หรือ mindset ของผู้ถือข้อมูลอย่างภาครัฐที่ต้องเปิดมากขึ้น เหมือนกับคำขวัญของสำนักงานข้อมูลข่าวสารของราชการว่า "เปิดเผยเป็นปกติ" และในยุคปัจจุบันแค่เปิดเผย ไม่พอ แต่ต้องเป็น Open Data ที่สามารถใช้เครื่องมือใหม่ๆ อย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) มาช่วยหา ความผิดปกติได้
ทั้งนี้เรื่องของ Open Data เพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และ การมีส่วนร่วมทางการเมือง จะถูกพูดในงาน International Open Data Day วันที่ 3 มีนาคมนี้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ TKPark จะมีการเสวนาที่น่าสนใจ และ กิจกรรม Hackathon เพื่อสร้างต้นแบบแอพพลิเคชั่น ในประเด็น ดังกล่าว ลองไปดูรายละเอียดที่ http://opendataday.in.th กัน
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน